กรอบแนวทางการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของ กนอ.

1. แนวทางการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

  การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้นำแนวคิดและหลักการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศมาเป็นหลักในการพัฒนากรอบการพัฒนายกระดับนิคมอุตสาหกรรมสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศใน 5 มิติ 22 ด้าน และได้สรุปหลักการของการพึ่งพาอาศัยกันไว้

หลักการ รายละเอียด
1.  ลดปริมาณของเสียโดยหลัก3Rs การนำของเสีย วัสดุเหลือใช้ พลังงาน จากโรงงานหนึ่งมาเป็นวัตถุดิบของอีกโรงงานหนึ่ง ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการใช้ทรัพยากร พลังงาน และ ลดปริมาณของเสียให้เหลือน้อยที่สุด

2.  การปิดวงจรการไหล (close loop)/ การสร้างสมดุลของสารขาเข้าและสารขาออก/ การสร้างสมดุลการไหลเข้า-ออกของวัสดุ (balance input output/material Flow)

การพยายามปิดวงจรของการใช้ทรัพยากร พลังงาน และลดการปลดปล่อยของเสียให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยพยายามการสร้างสมดุลของสารขาเข้าและสารขาออกของแต่ละโรงงาน แต่ละนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งแสดงได้โดย Block Flow Diagram ของวัสดุ/ทรัพยากร ของเสีย และผลิตภัณฑ์พลอยได้ เพื่อให้เห็นถึงความสมดุลของแต่ละโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco-Plant)

3.  การเสริมสร้างกิจกรรม  ความร่วมมือต่าง ๆ (sharing activities)

การเสริมสร้างกิจกรรมความร่วมมือต่างๆ (sharing activities) ระหว่างโรงงาน ทั้งในนิคมอุตสาหกรรม เดียวกันและระหว่างนิคมอุตสาหกรรม ทั้งนี้ เพื่อให้การช่วยเหลือเกื้อกูลพึ่งพาซึ่งกันตามหลักการพึ่งพาอาศัยกัน (symbiosis)


          ลำดับขั้นของการพัฒนาอุตสาหกรรมเริ่มจากการพัฒนาภายในสถานประกอบการ หรือโรงงานโดยนำแนวคิดหลักของนิเวศวิทยาอุตสาหกรรมมาใช้ และพัฒนาจากระดับโรงงานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ประกอบการเดียวกัน (zone/estate) เพื่อพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมที่สอดคล้องกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในเชิงพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันระหว่างโรงงานต่าง ๆ ในพื้นที่กับสิ่งแวดล้อมโดยรวมและระบบนิเวศท้องถิ่น และขยายตัวไปสู่การเชื่อมต่อกันระหว่างนิคมหลายนิคมในเขตอำเภอ จนกระทั่งเป็นระดับจังหวัด โดยมีภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ชุมชน วัด บ้าน โรงเรียน ที่สามารถดำเนินกิจกรรมเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้แนวคิดการประหยัดพลังงาน การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และการอุปโภคและบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กล่าวได้ว่า การพัฒนาเข้าสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้การพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเกิดขึ้นได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน          เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) หรือเมืองน่าอยู่คู่อุตสาหกรรม เป็นเมืองหรือพื้นที่ซึ่งมีการพัฒนาอุตสาหกรรมโดยให้มีความเชื่อมโยงของนิคมอุตสาหกรรม สวนอุตสาหกรรม เขตประกอบการอุตสาหกรรม หรือชุมชนอุตสาหกรรมกับกลุ่มโรงงาน องค์กร หน่วยงานท้องถิ่นและชุมชนโดยรอบ ให้เจริญเติบโตไปด้วยกัน ภายใต้การกำกับดูแลสิ่งแวดล้อมที่ดี และการร่วมมือกันขับเคลื่อนอย่างจริงจังของคนในพื้นที่ โดยสามารถดำเนินการได้ทุกระดับตั้งแต่ ระดับปัจเจกชน เช่น ครอบครัวและโรงงาน (eco family / eco factory) เป็นต้น ระดับกลุ่มอุตสาหกรรมหรือชุมชน เช่น นิคมอุตสาหกรรมหรือหมู่บ้านหรือตำบล (eco industrial zone / estate) ระดับเมือง (eco town / eco city) หรือเครือข่ายของเมืองหรือจังหวัด

            แนวคิดของการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศนับเป็นการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมและชุมชนโดยสร้างความสมดุลระหว่างปัจจัยด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย โรงงานอุตสาหกรรม และชุมชนในท้องถิ่น

            สิ่งที่เห็นได้อย่างเด่นชัดสำหรับเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศคือ การลดการทิ้งหรือการปลดปล่อยของเสียออกจากโรงงานโดยการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงที่สุด นอกจากนี้ ยังต้องลดของเสียที่ออกจากนิคมอุตสาหกรรม โดยเพิ่มกลไกการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการจัดการของเสียจากโรงงานหนึ่ง ๆ ไม่ว่า จะเป็นของเสียอันตรายหรือไม่ ที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม หากมีการกำจัดอย่างผิดวิธี นักสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรมและนักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมจึงมีแนวคิดที่จะลดปริมาณการทิ้งหรือการกำจัดของเสียเหล่านี้ โดยการจัดทำระบบการแลกเปลี่ยนของเสีย (waste exchange) กล่าวคือ เป็นการส่งต่อหรือแลกเปลี่ยนของเสียซึ่งไม่มีค่าสำหรับโรงงานหนึ่งไปเป็นวัตถุดิบสำหรับอีกโรงงานหนึ่งภายในเมืองอุตสาหกรรมนั้น ๆ  เพื่อลดการทิ้งและการกำจัดของเสียในภาพรวมของสวนอุตสาหกรรมให้ได้มากที่สุด นักสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรมยังได้มีการมองโรงงานอุตสาหกรรมในสวนอุตสาหกรรมหนึ่ง ๆ ในลักษณะของเครือข่ายขององค์กรที่สามารถเชื่อมโยง  ส่งต่อหรือแลกเปลี่ยนทรัพยากรการผลิต หรือผลพลอยได้ในการผลิตต่าง ๆ ระหว่างกันได้ ทั้งนี้สามารถกล่าวได้ว่า เป้าหมายสูงสุดของการจัดทำเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศคือ การนำหลักการของ 3Rs (reduce reuse recycle) มาใช้ให้เห็นเป็นรูปธรรม ตัวอย่างของประโยชน์ที่ได้จากการจัดการเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ได้แก่

  • ลดปริมาณการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ
  • ลดปริมาณการเกิดปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อม
  • การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • ลดปริมาณการเกิดของเสียที่ต้องบำบัดหรือกำจัด
  • เพิ่มมูลค่าทางการตลาดของสินค้าพลอยได้ หรือของเสียที่ได้จากกระบวนการผลิต

 

2. การพัฒนาข้อกำหนดคุณลักษณะและเกณฑ์ตัวชี้วัดการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

         ใน พ.ศ. 2553 กนอ. ได้เริ่มต้นพัฒนาและจัดทำข้อกำหนดคุณลักษณะและเกณฑ์ตัวชี้วัดฯ เป็น 5 มิติ 24 ด้าน ซึ่งประกอบด้วย 1) มิติทางกายภาพ 2) มิติทางเศรษฐกิจ  3) มิติทางสิ่งแวดล้อม 4) มิติทางสังคม และ 5) มิติทางการบริหารจัดการ รวมถึงคุณลักษณะ/องค์ประกอบของการพัฒนา/แนวทางการพัฒนาสำหรับแต่ละด้าน โดยมีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม “เดินหน้าประเทศไทย ก้าวไกลสู่อุตสาหกรรมเชิงนิเวศ” เมื่อวันอังคารที่ 7 กันยายน 2553 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค กรุงเทพฯ เพื่อเผยแพร่นโยบายและแนวคิดในการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (eco-industry development) และร่วมกันกำหนดทิศทางอุตสาหกรรมไทยที่จะมุ่งสู่อุตสาหกรรมเชิงนิเวศโดยระดมความคิดเห็นร่วมกันต่อข้อกำหนดคุณลักษณะและเกณฑ์ตัวชี้วัดการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศใน 5 มิติ 24 ด้าน เพื่อให้ได้แนวทางการพัฒนาที่ชัดเจนและครบถ้วน ทั้งนี้ มีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทั้งในและนอกนิคมอุตสาหกรรม ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม/สวนอุตสาหกรรม หน่วยงานภาครัฐ ตลอดจนผู้สนใจอื่น ๆ เข้าร่วมประชุมซึ่งถือว่า เป็นนิมิตหมายอันดีในการร่วมบูรณาการแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจากทุกภาคส่วน

          ภายหลังจากการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ เมื่อวันอังคารที่ 7 กันยายน 2553 กนอ. ได้ระดมสมองร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อทบทวนข้อกำหนดคุณลักษณะและเกณฑ์ตัวชี้วัดการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในมิติต่าง ๆ ให้เหมาะสมพร้อมทั้งมีตัวชี้วัดที่ชัดเจนใน 5 มิติ จากนั้น กนอ. และกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ร่วมกันจัดสัมมนา เรื่อง “อุตสาหกรรมก้าวไกล ไทยเข้มแข็ง ด้วยอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ” เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2554 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนต่อตัวชี้วัด โดย กนอ. และ กรอ.ร่วมกันสรุปผลระดมข้อคิดเห็นจากการสัมมนาเพื่อจัดทำข้อกำหนดคุณลักษณะและเกณฑ์ตัวชี้วัดการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์ใน 5 มิติ 22 ด้านแล้วเสร็จเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2554

"กนอ. สรุปทบทวนตัวชี้วัดดังกล่าวใน 5 มิติ 22 ด้าน และเชื่อมโยงกับมาตรการ/แนวทางในการพัฒนา ได้เป็นข้อกำหนดคุณลักษณะและเกณฑ์ตัวชี้วัดการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์ใน 5 มิติ 22 ด้านของ กนอ. แล้วเสร็จ เมื่อเดือนมีนาคม 2554"

          ในปี 2555 กนอ. ได้ทบทวนข้อกำหนดคุณลักษณะมาตรการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ  เนื่องจากปัจจุบันมีปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลให้สภาพการณ์เปลี่ยนแปลงไป เช่น  การกำหนดนโยบายอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry;  GI) ของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งจะส่งผลให้การพัฒนาเข้าสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในระดับโรงงานเป็นไปอย่างชัดเจนและมีประสิทธิภาพ ความตระหนักของทุกภาคส่วนในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงบทบาทการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียในการร่วมคิด ร่วมขับเคลื่อนการดำเนินการในประเด็นต่าง ๆ เป็นต้น ด้วยเหตุผลดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น จึงสามารถทบทวนและจัดทำข้อกำหนดคุณลักษณะและเกณฑ์ตัวชี้วัดการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยการทบทวนครั้งนี้ได้กำหนดวัตถุประสงค์ไว้ ดังนี้

  • เพื่อรวบรวมข้อมูลเชิงวิชาการ และกรณีศึกษาทั้งในและต่างประเทศที่เกี่ยวกับการพัฒนาการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เพื่อนำไปยกร่างข้อกำหนด เกณฑ์ และตัวชี้วัด
  • เพื่อระดมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ในการเสนอแนะในการพัฒนากรอบ เกณฑ์ และตัวชี้วัดในการเข้าสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ
  • เพื่อกำหนดกรอบ เกณฑ์ ค่าเป้าหมาย และตัวชี้วัดในแต่ละมิติให้เข้าสู่มาตรฐานในการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ
  • เพื่อจัดทำคู่มือตัวชี้วัดและเกณฑ์การประเมินการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

คุณลักษณะของเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

ข้อกำหนดคุณลักษณะมาตรฐานและตัวชี้วัดการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ปี 2560 ครอบคลุมใน 5 มิติ 22 ด้าน 31 ตัวชี้วัด

  • มิติกายภาพ เป้าหมาย เพื่อการพัฒนาพื้นที่และสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการในนิคมอุตสาหกรรมให้มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีความเพียงพอ มีประสิทธิภาพและปลอดภัย มุ่งเน้นการออกแบบเชิงนิเวศ (eco-design) สำหรับการออกแบบ/วางผังก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการให้สอดคล้องกลมกลืนกับธรรมชาติ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีความพอเพียงคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ และปลอดภัย

 

  • มิติเศรษฐกิจ เป้าหมายเพื่อสร้างปัจจัยที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจท้องถิ่นและจังหวัดและ ความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนท้องถิ่น การสร้างความเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพและเสถียรภาพให้กับท้องถิ่น จังหวัด ประเทศ พร้อมไปกับความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนโดยรอบ

 

  • มิติสิ่งแวดล้อม เป้าหมายเพื่อการใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต ลดการก่อเกิดของเสีย เพิ่มผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการทรัพยากรและวัสดุอย่างมีประสิทธิภาพเชิงเศรษฐนิเวศ (eco-efficiency) สร้างสมดุลของทรัพยากร กระบวนการผลิต ผลิตภัณฑ์ และการก่อเกิดของเสีย (balance of input-production process-output) ซึ่งมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อมุ่งสู่สังคมที่มีการหมุนเวียนวัสดุกลับมาใช้ใหม่ (recycling oriented society) โดยใช้หลัก 3Rs มุ่งสู่นิคมอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ (low carbon industrial estate) และมุ่งสู่การสร้างเครือข่ายของการเกื้อกูลและพึ่งพากันของภาคอุตสาหกรรม (industrial symbiosis networks) ซึ่งมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนทรัพยากร พลังงาน และวัสดุเหลือใช้ร่วมกันหรือการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน (sharing activities) เพื่อลดต้นทุนและความยั่งยืน

 

  • มิติสังคม เป้าหมายเพื่อความสุขของคนในองค์กรและชุมชน ซึ่งมุ่งเน้นคุณภาพชีวิตและสังคมที่ดี พนักงานทั้งของนิคมอุตสาหกรรม และโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมมีคุณภาพชีวิตและสวัสดิการที่ดี ก่อให้เกิดความสุขขององค์กรและสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างผาสุกและยั่งยืน

 

  • มิติการบริหารจัดการ เป้าหมายเพื่อการบริหารจัดการบนหลักการมีส่วนร่วมและหลักธรรมาภิบาล (effective estate management) เพื่อประโยชน์สุขของทุกภาคส่วน นิคมอุตสาหกรรมและโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมมีการบริหารจัดการที่ดีโดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม เป็นสำคัญ

 

การพัฒนาและยกระดับการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

          นิคมอุตสาหกรรมที่จะพัฒนาและยกระดับนิคมอุตสาหกรรมสู่ “เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ” มีข้อกำหนดคุณลักษณะมาตรฐานการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเบื้องต้นใน 3 ข้อ ดังนี้

  • มีการประกาศนโยบายการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมตามแนวคิดหลักการอีโค (eco) โดยมุ่งเน้นสู่เป้าหมายอย่างชัดเจน
  • นิคมอุตสาหกรรมรับแนวคิดหลักการอีโค (eco) มาประยุกต์ใช้ โดยมีการจัดตั้งคณะทำงาน Eco (eco team) และคณะทำงานเครือข่าย Eco (eco networks) ของนิคมอุตสาหกรรม พร้อมทั้งจัดการประชุม Eco (eco forum) ซึ่งเป็นการประชุมเป็นประจำสม่ำเสมอของนิคมอุตสาหกรรม ตามระยะเวลาที่กำหนด เพื่อพบปะแลกเปลี่ยนเผยแพร่แนวคิดกับกลุ่มผู้ดำเนินการหลัก (core team) จากผู้มีส่วนได้ ส่วนเสียทั้งหมด และร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาและบริหารนิคมอุตสาหกรรมแบบมีส่วนร่วมต่อไป
  • มีระบบการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐาน ISO 14001
  • มีการพัฒนาที่ยั่งยืนตามข้อกำหนดคุณลักษณะมาตรฐานและเกณฑ์ตัวชี้วัดการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศใน 5 มิติ 22 ด้าน

          ทั้งนี้ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้จัดทำเกณฑ์การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเป็น 3 ระดับ ดังภาพที่ 2.9 เพื่อยกระดับและพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเข้าสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศตามวิสัยทัศน์ของ กนอ. ดังนี้

ระดับที่ 1 “อีโค-แชมเปียน (Eco-Champion)” หมายถึง นิคมอุตสาหกรรมที่ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างผาสุก บนหลักธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม โดยนิคมอุตสาหกรรมจะต้องนำข้อกำหนดคุณลักษณะมาตรฐานและเกณฑ์ตัวชี้วัดการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศระดับ Eco-Champion ประกอบด้วย 5 มิติ  31 เกณฑ์ตัวชี้วัด  มาเป็นกรอบมาตรฐานในการเปรียบเทียบ เพื่อกำหนดประเด็นและทิศทางการพัฒนาในแผนแม่บทพัฒนายกระดับนิคมอุตสาหกรรมสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

ระดับที่ 2 “อีโค-แอกเซลเลนซ์ (Eco-Excellence)” หมายถึง นิคมอุตสาหกรรมที่สามารถ “พัฒนาและยกระดับ” คุณภาพชีวิตชุมชนและคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นนิคมอุตสาหกรรมที่มุ่งสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมให้ยั่งยืนบนพื้นฐานความสมดุลของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยอาศัยความร่วมมือ การพึ่งพาซึ่งกันและกัน และการสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันของผู้ประกอบการ หน่วยงานของรัฐ และชุมชน เพื่อมุ่งสู่ประโยชน์ส่วนรวมร่วมกัน โดยการยกระดับนิคมอุตสาหกรรมสู่ระดับ Eco-Excellence นิคมอุตสาหกรรมต้องผ่านการประเมินด้วยตัวชี้วัดระดับ Eco-Champion ทุกด้าน  โดยข้อกำหนดคุณลักษณะมาตรฐานและเกณฑ์ตัวชี้วัดการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ระดับ Eco-Excellence ประกอบด้วย 5 มิติ 9 เกณฑ์ตัวชี้วัด

ระดับ 3 “อีโค-เวิลด์คลาส (Eco-World Class)” หมายถึง นิคมอุตสาหกรรมที่สามารถเป็น “ผู้นำ” ในการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เป็นนิคมอุตสาหกรรมที่มุ่งสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรและพลังงานอย่างคุ้มค่า พร้อมกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต พัฒนาเศรษฐกิจชุมชนเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นที่พึ่งของชุมชนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยการยกระดับนิคมอุตสาหกรรมสู่ระดับ Eco-World Class นิคมอุตสาหกรรมต้องผ่านการประเมินด้วยตัวชี้วัดระดับ Eco-Champion และระดับ Eco-Excellence ทุกด้าน โดยข้อกำหนดคุณลักษณะมาตรฐานและเกณฑ์ตัวชี้วัดการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ระดับ Eco-World Class ประกอบด้วย 5 มิติ 7 เกณฑ์ตัวชี้วัด

          โดยระดับ Eco-Champion ถือเป็นขั้นแรกของการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Estate and Networks) สำหรับนิคมอุตสาหกรรมที่ต้องการยกระดับมาตรฐานของการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ สามารถไต่ระดับการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจากระดับ Eco-Champion สู่ระดับ Eco-Excellence และ Eco-World Class ตามลำดับ

 

3. กระบวนการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

          การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในระดับองค์กร นำไปสู่กระบวนการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศได้ ดังนี้

  • กระบวนการที่ 1 จะต้องดำเนินการในส่วนของการกำหนดคำนิยามของเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศให้ชัดเจน เกณฑ์ตัวชี้วัด (criteria) หรือที่เรียกว่า ข้อกำหนดคุณลักษณะและเกณฑ์ตัวชี้วัดการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ซึ่งประกอบด้วย ตัวชี้วัด (indicator) หลังจากนั้น ต้องสร้างระบบการประเมินผล ซึ่งในส่วนขั้นตอนแรกนี้ จะสามารถดำเนินการได้โดยการประชุมหน่วยงานภายในการนิคมอุตสาหกรรมเอง ประชุมผู้มีส่วนได้เสียทั้งหลาย ประชุมพันธมิตรหลัก เช่น  กรมควบคุมมลพิษ สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น ตลอดจนสำนักงานคณะกรรมส่งเสริมการลงทุนเพื่อจะพิจารณาถึงการสนับสนุนในระดับนโยบาย  การพิจารณาถึงแรงจูงใจ และประโยชน์ที่จะได้รับ นอกจากนี้ จะต้องมีการจัดทำรายชื่อของพันธมิตรหลัก รายชื่อของผู้มีส่วนได้เสียต่าง ๆ กระบวนการในขั้นตอนนี้ ไม่ว่า จะเป็นการประชุมหน่วยงานภายในหรือภายนอก (Eco Forum)
  • กระบวนการที่ 2 เป็นการเผยแพร่แนวคิดการประชาสัมพันธ์หลักการต่าง ๆ ในรูปแบบของนิทรรศการ โปสเตอร์ โบรชัวร์ เอกสารสิ่งพิมพ์เผยแพร่ต่าง ๆ ควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร ซึ่งเป็นบุคลากรของนิคมอุตสาหกรรมเอง หรือบุคคลากรของโรงงาน ตลอดจนจะต้องมีการจัดทำรายชื่อของผู้เชี่ยวชาญ ทั้งเป็นผู้เชี่ยวชาญในประเทศและผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ ดังนั้น ในขั้นตอนนี้จึงเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ และเป็นการจัดหลักสูตรการอบรมการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ
  • กระบวนการที่ 3 เป็นการนำตัวชี้วัดไปสู่การจัดทำแผนแม่บท (master plan) ของนิคมอุตสาหกรรมใน 5 มิติ 22 ด้าน โดยมีขั้นตอนของการพัฒนา ดังนี้
  • การแสดงความมุ่งมั่นในการพัฒนาของนิคมอุตสาหกรรม

          นิคมอุตสาหกรรมต้องแสดงความมุ่งมั่นในการพัฒนาโดยการเตรียมความพร้อมนิคมอุตสาหกรรมที่จะพัฒนาและยกระดับ “นิคมอุตสาหกรรม” สู่ “เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ” โดยมีข้อกำหนดคุณลักษณะมาตรฐาน 3 ขั้นตอน ได้แก่

  • การพิจารณากำหนดนโยบายที่แสดงความมุ่งมั่นในการพัฒนาสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของนิคมอุตสาหกรรม
  • การนำแนวคิดและหลักการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศมาประยุกต์ใช้กับนิคมอุตสาหกรรม โดยมีการจัดตั้งคณะทำงาน Eco (eco team) และคณะทำงานเครือข่าย Eco (eco committee) ของนิคมอุตสาหกรรม โดยมีการประชุมเพื่อหารือร่วมกัน แลกเปลี่ยนแนวคิด และขับเคลื่อนการพัฒนาและบริหารนิคมอุตสาหกรรมแบบมีส่วนร่วม
  • ได้ระบบการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐาน ISO 14001

          นิคมอุตสาหกรรมแสดงความมุ่งมั่นในการพัฒนาตาม 3 ขั้นตอนเบื้องต้นแล้ว นิคมอุตสาหกรรมจะต้องประเมินสถานภาพและวิเคราะห์ตนเอง เพื่อดำเนินการพัฒนาแผนแม่บทการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนใน 5 มิติ 22 ด้าน โดยแบ่งกระบวนการออกเป็น 6 ขั้นตอน ได้แก่

  • การสำรวจสถานภาพปัจจุบันและการวิเคราะห์สถานการณ์ (situational analysis) เบื้องต้นของตนเอง รวมถึงพื้นที่โดยรอบนิคมอุตสาหกรรม
  • การสำรวจสถานภาพปัจจุบันเทียบกับตัวชี้วัดตามข้อกำหนด 5 มิติ 22 ด้าน (gap & potential scan) เพื่อสะท้อนสถานภาพการดำเนินงานในปัจจุบันกับเกณฑ์ตัวชี้วัดในแต่ละมิติ เพื่อสกัดจุดอ่อนสะท้อนจุดแข็งออกมาเป็นประเด็นพัฒนา/โอกาสในการยกระดับสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของนิคมอุตสาหกรรม
  • การรับฟังความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากภาคส่วนต่าง ๆโดยกระบวนการมีส่วนร่วม (stakeholders analysis) เพื่อระดมความคิดเห็นต่อประเด็นปัญหา/โอกาสในการยกระดับสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของนิคมอุตสาหกรรม  
  • การวิเคราะห์สถานภาพและศักยภาพในการพัฒนาของนิคมอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคส่วนต่าง ๆ (situation analysis and assessment) เพื่อสรุปเป็นประเด็นการพัฒนาในการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ
  • การจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยการนำประเด็นการพัฒนามาพิจารณาถึงกลยุทธ์ เป้าหมายระยะยาว 5 ปี และเป้าหมายระยะสั้น (ประจำปี) ภายในระยะเวลาการดำเนินงาน 5 ปี โดยกำหนดแผนงาน/โครงการในแต่ละประเด็นการพัฒนาต้องมุ่งสู่เป้าหมาย ตัวชี้วัดการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 5 มิติ 22 ด้าน
  • การนำร่างแผนแม่บทการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ซึ่งประกอบด้วยประเด็นการพัฒนา กลยุทธ์ แผนงาน โครงการ เป้าหมายระยะยาว และเป้าหมายระยะสั้น ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของภาคส่วนต่าง ๆ นำมารับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ อีกครั้งหนึ่ง เพื่อสรุปเป็นแผนแม่บทการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศฉบับสมบูรณ์และใช้ในการดำเนินการพัฒนาและยกระดับนิคมอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง
รูปภาพที่เกี่ยวข้อง
Banner Border